ยาเสพติด

ยาเสพติดถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและไม่ควรยุ่งเกี่ยวโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการเสพติดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงแล้ว ยังอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือสังคมได้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นการเสพหรือการค้า หรือทุกๆกรณี ซึ่งในปัจจุบันโทษเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นถือเป็นโทษสูงสุดของกฏหมาย ทั้งนี้ในการทำงานของไรเดอร์เองก็มีส่วนเกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงที่อาจจะตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดไรเดอร์ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจถึงโทษและข้อระมัดระวังเป็นอย่างดีเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด  

โดยเนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อโดยสามารถรับชมได้ผ่านวิดิโอสั้นๆดังนี้

  1. สถิติเกี่ยวกับคดียาเสพติดในปี 2563 

  2. กฏหมายยาเสพติดที่ไรเดอร์ควรรู้

  3. ข้อสังเกต ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขนยาเสพติด

  4. ขั้นตอนในการปฏิบัติหากพบสิ่งของน่าสงสัย

กฏหมายเกี่ยวกับยาเสพติด

ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับ 8) พ.ศ. 2564 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2564) เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยแบ่งยาเสพติดออกเป็น 5 ประเภท โดยจะเน้นย้ำประเภทที่ 1 คือ ยาเสพติดให้โทษร้ายแรง คือ ยาบ้า เฮโรอีน ยาไอซ์ ซึ่งแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็น 3 ส่วน

  1. ผู้เสพ

  2. ผู้รับจ้างขน

  3. นายทุน หรือตัวการใหญ่

ซึ่งจะเห็นว่าในข้อที่ 2 นั้นจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับไรเดอร์โดยตรงที่อาจจะตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว โดยโทษของการครอบครองยาเสพติดนั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และโทษของการค้ายาเสพติดมีโทษจำคุก 20 ปี และโทษสูงสุดคือการเป็นนายทุน หรือ ตัวการขายรายใหญ่มีโทษประหารชีวิต 

และหากตรวจพบว่าเป็นผู้เสพยาเสพติดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้หากเสพยาเสพติดแล้วขับขี่ จะถูกเพิ่มโทษ พ.ร.บ.จราจร 1ใน3 ของโทษนั้นๆ และอาจเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่อีกด้วย 

โทษของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กระทำการผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี 

ข้อสังเกต ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขนยาเสพติด

เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ไลน์แมนไรเดอร์นั้นจะต้องช่างสังเกตโดยแบ่งการสังเกตเป็น 4 จุดสังเกตดังนี้ 

  1. คน โดยสังเกตุพฤติกรรมและลักษณะภายนอกว่า มีลักษณะคล้ายคนเมาหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมปกปิดเช่น ไม่ส่งมอบสิ่งของด้วยตนเอง โดยให้หยิบจากที่ใดที่นึงแทน รวมทั้งปลายทางที่มีการปกปิดตัวตนเช่นเดียวกันโดยไม่ให้เจอตัวแต่ให้วางเอาไว้ที่ใดที่นึงแทน 

ข้อปฏิบัติหากพบข้อสงสัยในเรื่องคน  

  • ให้จดจำตำหนิ รูปพรรณของคน ทั้งต้นทางและปลายทาง เช่น ความสูง สีผิว มีรอยสัก หรือ เจาะหูหรือไม่ 

  1. สิ่งของ ให้สังเกตจากสิ่งของที่ได้รับโดยสอบถามผู้ส่งว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทใด หากสินค้าที่ผู้ส่งแจ้งกับสิ่งของที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์นั้นมีความผิดปกติให้ตั้งข้อสังเกตไว้

  2. สถานที่ ว่าสถานที่ที่เป็นจุดรับส่งนั้นเป็นสถานที่ที่เป็นชุมชนแออัด หรือ เป็นอพาร์ทเม้นท์ที่อยู่ในซอกมุมหรือไม่

  3. เวลา อยู่ในช่วงเวลาน่าสงสัยหรือไม่ เช่นเวลาค่ำ ดึก โดยประมาณ 01:00-02:00 น. 

ตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงจากไรเดอร์ 

ไรเดอร์ได้รับงานแมสเซนเจอร์โดยได้รับสินค้าเป็นหมวกที่มีหูแมว 2 ข้าง แต่ไรเดอร์นั้นสังเกตุเห็นได้ว่า หูแมวข้างหนึ่งมีร่องรอยของการตัดปะฉีกขาด ไรเดอร์จึงมีความสงสัยว่าจะเป็นสิ่งกฏหมาย จึงได้ขับรถไปยังสถานีตำรวจใกล้เคียง เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูสิ่งของข้างในให้ และตรวจพบเป็นยาเสพติดจริงตามที่ตั้งสมมุติฐานไว้ 

ขั้นตอนในการปฏิบัติหากพบสิ่งของน่าสงสัย

เมื่อไรเดอร์พบวัตถุต้องสงสัยที่ได้รับมาจากผู้ส่ง ไรเดอร์สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

  1. ติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ดูแลคนขับ โดยแจ้งว่าได้รับสินค้าที่น่าสงสัยว่าจะเป็นสิ่งของผิดกฏหมาย เพื่อนำสิ่งของนั้นไปตรวจสอบ 

  2. นำสิ่งของที่ต้องสงสัยนั้นไปยังสถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด และแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าได้รับสินค้าจากลูกค้าที่มีความน่าสงสัยว่าจะเป็นสิ่งของผิดกฏหมาย โดยการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ 

  3. ให้ไรเดอร์ทำการถ่ายวิดิโอบันทึกภาพระหว่างแกะของต้องสงสัย

  • หากไม่พบว่าเป็นยาเสพติดหรือสิ่งของผิดกฏหมายให้แจ้งไปยังฝ่ายดูแลคนขับ (CS) และทำการส่งต่อให้กับลูกค้าปลายทางต่อไป

  • หากพบเป็นยาเสพติดให้แจ้งลักษณะรูปพรรณของผู้ต้องสงสัยให้กับตำรวจ เพื่อให้ตำรวจทำการสืบสวนและติดตามผู้กระทพความผิดต่อไปตามกระบวนการของกฏหมาย 

ทั้งนี้ไรเดอร์ยังสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาได้ในกรณีที่พบเจอการกระทำความผิด หรือการกระทำน่าสงสัยโดยติดต่อแจ้งเบาะแสที่สายด่วนยาเสพติดที่ 1386 หรือเข้าไปยัง https://1386.oncb.go.th/ โดยรายละเอียดและข้อมูลการแจ้งเบาะแสทั้งหมดนั้นเป็นความลับ ไรเดอร์ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากการแจ้งเบาะแส