ขับขี่ปลอดภัย (Safe Riding)

ในการทำงานของไรเดอร์นั้นจะต้องอยู่บนถนนทุกๆวัน ดังนั้นการศึกษาเรื่องการขับขี่ปลอดภัยนับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีสำคัญเป็นอย่างมาก 

ในปี 2564 นั้นมีข้อมูลสถิติเกี่ยวกับอุบัติเหตุน่าสนใจดังนี้

การแจ้งการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งหมด 9 แสนราย โดยประกอบด้วย บาดเจ็บสะสม 8.8 แสนราย และ เสียชีวิตสะสม 1.5 หมื่นราย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยโดยประมาณ 36 คน/วัน โดย 80% เป็นการเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ และส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย 

โดยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด เกิดจาก ขับรถเร็ว 35% และ เมาแล้วขับ 24% และในช่วงเทศกาลนั้นจะมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็น 76คน/วัน หรือคิดเป็น 2 เท่า จากปกติ

ความรู้เบื้องต้นสำหรับกฏหมายการใช้รถจักรยานยนต์

  1. ทุกคนต้องมีใบอนุญาตขับขี่ และอบรมความรู้กฏหมายจราจรเบื้องต้น

  2. ขับรถตามความเร็วที่กฏหมายกำหนด

  3. ปฏิบัติตามไฟสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจร

  4. ขับตามเลนของตัวเองและไม่ขับขี่ย้อนศร

  5. ผู้ขับจักรยานยนต์จะต้องขับตามช่องทางด้านซ้ายเสมอ ซึ่งเป็นกฏระเบียบที่ระบุเฉพาะผู้ใช้จักรยานยนต์

ดังนั้นเพื่อลดความสูญเสียหรืออุบัติเหตุ ไรเดอร์ควรจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบในการใช้รถใช้ถนนอย่างถูกต้องโดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้ 

การเตรียมความพร้อมเพื่อลดอุบัติเหตุ

  1. เตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมก่อนการขับขี่ โดยร่างกายจะต้องแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย และพร้อมสำหรับการขับขี่ รวมทั้งสภาพจิตใจที่ไม่ควรมีอารมณ์ขุ่นมัว หรือหงุดหงิดที่อาจทำให้เกิดความประมาทหรือเสียสมาธิในการขับขี่ได้ 

  2. การแต่งกายที่พร้อมสำหรับการทำงานตลอดทั้งวัน โดยสวมใส่ชุดที่สะดวกกับการทำงาน ไม่หลวมจนเกินไป

  3. ใส่หมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานทุกครั้งที่ขับขี่ เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตได้มากกว่า 70% โดยเลือกซื้อที่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก. 

  4. ติดตั้งอุปกรณ์ให้แน่นหนา (เช่น กล่องใส่อาหาร อุปกรณ์ติดตั้งโทรศัพท์ ฯลฯ) เพื่อไม่ให้ตกหรือหล่นในขณะขับขี่

  5. ตรวจสอบสภาพรถก่อนการขับขี่ทุกครั้ง ด้วยการตรวจลมยาง ตรวจระบบเบรค ความพร้อมของกระจกมองข้าง และ ไฟท้าย เพื่อสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ตอนกลางคืน 

  6. สำรวจเส้นทางก่อนออกเดินทาง เพื่อจะได้คำนวณเวลาหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดและลดการมองแผนที่ในโทรศัพท์ขณะขับขี่ ทั้งนี้ตามกฏหมายผู้ใช้รถจักรยานยนต์ห้ามถือโทรศัพท์ในขณะขับขี่ โดยให้ใช้อุปกรณ์ในการติดตั้งหน้ารถแทนเพื่อความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์มือถือ 

ข้อปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

  • ตั้งสติ ตรวจสอบอาการบาดเจ็บของตนเอง และคู่กรณี ก่อนการคำนึงถึงผู้ผิดหรือถูก 

  • แจ้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง หรือ สายด่วนช่วยเหลือ เพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีที่มีการบาดเจ็บ หรือ ติดต่อประกันภัยที่ไรเดอร์มีเพื่อเข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุและเรียกร้องค่าเสียหาย 

  • ถ่ายภาพที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานของตัวเราเอง และเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาในการหาความผิดต่อไป โดยให้ถ่ายภาพรถจักรยานยนต์ที่เสียหาย ทั้งมุมกว้างและมุมแคบ และไม่จำเป็นต้องถ่ายภาพคู่กรณีแต่ให้ถ่ายเพียงรถและป้ายทะเบียนของคู่กรณีให้ชัดเจนก็เพียงพอ 

*ข้อสำคัญ ไม่ควรเจรจากันเองเนื่องจากอาจจะไม่มีหลักฐานในการยืนยันและเรียกร้องค่าสินไหมจากการคุ้มครองต่างๆได้ 

*เมื่อเกิดอุบัติเหตุให้แสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกครั้งตามกฏหมายกำหนด รอให้เจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุและแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ให้เสร็จสิ้นก่อนถึงจะแยกย้ายได้ 

*ในกรณีที่อุบัติเหตุกีดขวางทางจราจร สามารถแยกย้ายได้แต่ให้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานอย่างละเอียดและแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน

ความเร็วในการใช้รถจักรยานยนต์

  • กฏหมายความเร็วฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 มีข้อกำหนดให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วได้ดังนี้ 

    • การขับขี่ในเขตเมือง สามารถใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 60 กม./ชั่วโมง

    • การขับขี่นอกเขตเมือง สามารถใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 70 กม./ชั่วโมง

    • การขับขี่ในถนนที่มีความปลอดภัยพอสมควร (ถนนที่มี 4 เลนขึ้นไป และมีเกาะกลางถนน) สามารถใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชั่วโมง

พระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ)

พระราชบัญญัติการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือ พ.ร.บ. คือประกันภาคบังคับที่มีความสำคัญที่ผู้ใช้รถทุกประเภทจำเป็นต้องทำทุกคน ซึ่งจะมีการคุ้มครองผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถ โดยเยียวยาเบื้องต้น 15,000 บาท และหากมีค่าเสียหายหรือการสูญเสียที่เกิดขึ้น จะได้รับการชดใช้ตามที่กฏหมายกำหนด

การมีน้ำใจบนท้องถนน

ในปัจจุบันผู้ใช้รถใช้ถนนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการมีน้ำใจบนท้องถนน กับ การปฏิบัติตามกฏหมาย เช่น การหยุดให้คนข้ามถนนบนทางม้าลาย เป็นการปฏิบัติตามกฏหมายไม่ใช่การมีน้ำใจ ซึ่งตัวอย่างการมีน้ำใจบนท้องถนน เช่น การช่วยเหลือผู้ใช้ถนนด้วยการกรณีต้องการความช่วยเหลือ หรือการให้ความช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุติดขัดบนท้องถนน 

ปัจจุบันสถิติการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเนื่องมากจากหลายสาเหตุ โดยทางสำนักงานตำรวจได้มีการสรุปข้อหาที่ผู้ขับขี่ได้รับสูงสุด ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในการบังคับและปรับโทษดังนี้ 

  1. การขับรถย้อนศร

  2. การฝ่าไฟแดง

  3. การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่

  4. การขับรถโดยประมาท หรือน่าหวาดเสียว

  5. การขับรถบนทางเท้า 

การตัดคะแนนใบขับขี่เมื่อทำผิดกฎจราจร

ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นไปจะมีการนำระบบการ “ตัดคะแนนใบขับขี่” มาใช้โดยมีรายละเอียดการดังนี้

เกณฑ์การตัดคะแนนใบขับขี่

ผู้มีใบอนุญาตขับขี่ทุกประเภท จะมีคะแนนตั้งต้นที่ 12 คะแนน หากมีการทำผิดกฎจราจรใน 20 ฐานความผิดที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ จะถูกตัดคะแนนทันที ตั้งแต่ 1-4 คะแนน ดังนี้

ฐานความผิดที่ถูกตัด 1 คะแนน

  1. ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

  2. ไม่สวมหมวกกันน็อก

  3. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

  4. ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด

  5. ขับรถบนทางเท้า

  6. ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย

  7. ไม่หลบรถฉุกเฉิน

  8. ขับรถโดยประมาท น่าหวาดเสียว

  9. ขับรถไม่ติดป้ายทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลง ปิดบัง

  10. ไม่ติดป้ายภาษี

ฐานความผิดที่ถูกตัด 2 คะแนน

  1. ขับรถฝ่าไฟแดง

  2. ขับรถย้อนศร

  3. ขับรถในระหว่างโดนพักใช้หรือเพิกถอนใบขับขี่

ฐานความผิดที่ถูกตัด 3 คะแนน

  1. ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ

  2. ขับผิดวิสัยคนขับรถธรรมดา

  3. ขับรถชนแล้วหนี

ฐานความผิดที่ถูกตัด 4 คะแนน

  1. เมาแล้วขับ

  2. ขับรถในขณะเสพยาเสพติด

  3. แข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต

  4. ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น

นอกจาก 20 ฐานความผิดที่ตัดคะแนนทันทีแล้ว หากได้รับใบสั่งกรณีทำผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าฝืนเครื่องหมายในทาง ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ ขับรถไม่ชิดซ้าย จอดในที่ห้ามจอด เป็นต้น แล้วไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง จะถูกหักคะแนนเช่นกัน โดยตัด 1 คะแนน ต่อการค้างใบสั่ง 1 ใบ

กรณีที่ถูกตัดคะแนนใบขับขี่จนหมด

หากผู้มีใบขับขี่ถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นเวลา 90 วัน และหากฝ่าฝืนขับรถช่วงถูกพักใบขับขี่ มีโทษจำคุก 3 เดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

หากภายใน 3 ปี ถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 อาจถูกพักใช้ใบขับขี่นานกว่า 90 วัน

และหลักจากถูกพักใช้ใบขับขี่เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ภายในเวลา 1 ปี หากถูกตัดคะแนนจนถูกพักใช้เป็นครั้งที่ 4 อาจถูกเพิกถอนใบขับขี่ทุกประเภท

การคืนคะแนนใบขับขี่

คะแนนที่ถูกตัดในแต่ละปี จะได้คืนอัตโนมัติ เมื่อครบ 1 ปี แต่หากคะแนนในปีนั้น ๆ เหลือน้อยกว่า 6 คะแนน สามารถเข้าอบรมกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อรับคะแนนคืนได้ปีละ 2 ครั้ง โดยการอบรมครั้งแรก จะได้คะแนนคืนไม่เกิน 12 คะแนน ครั้งที่ 2 ได้คะแนนคืนไม่เกิน 6 คะแนน

กรณีถูกตัดคะแนนจนเหลือ 0 และถูกพักใช้ใบขับขี่ 90 วัน หากเข้าร่วมการอบรมแล้วผ่าน จะได้คะแนนคืน 12 คะแนนทันที แต่หากอบรมไม่ผ่านหรือไม่เข้ารับการอบรม จะได้คืนเพียง 8 คะแนนเท่านั้น และจะได้คืนอีก 4 คะแนนที่เหลือ เมื่อไม่ทำผิดกฎจราจรอีก

คลิก เพื่ออ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตัดคะแนนใบขับขี่ 

คลิก เพื่อรับชมวิดิโอขับขี่ปลอดภัย